โหราศาสตร์คืออะไร
จรรยาบรรณโหร
การผูกดวง
ดาราศาสตร์แบบไทยๆ
เมื่อโลกเป็นศูนย์กลาง
ดูดาวเคราะห์จากจักรราศี
Horoscope
ตำนานดาวพระเคราะห์
จักรราศีวิภาค
คู่ธาตุ คู่มิตร คู่ศัตรู
ลัคนาและดวงชะตา
ดาวเกษตร ปรเกษตร
ดาวอุจ ดาวนิจ
มหาจักร ราชาโชค

สืบค้นข้อมูล
คำค้น

เกร็ดความรู้ด้านโหราศาสตร์ ที่เรารวบรวมนั้น บ้างก็มาจากเวปไซค์ต่างๆ จากตำราโหราศาสตร์ไทยบ้าง พยายามเขียนเองบ้าง เรียบเรียงใหม่บ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนไทย ได้มีความเข้าใจ เกี่ยวกับศาสตร์นี้อย่างถูกต้อง มากขึ้น ขออภัยที่ไม่สามารถ แจ้งแหล่งที่มาได้

:: ลัคนาและดวงชะตา ::

             ลัคนาคือความหมุนของโลกในระยะ ๑ วัน กำหนดด้วยวิถีของโลกโคจรตามคติในรอบ ๑ ปี เมื่อเราได้คำนวณสมผุสแล้วว่าพระอาทิตย์อยู่ในราศีใด มีมุมเป็นองศา ลิบดาเท่าใดก็จะรู้ได้ว่าลัคนาเกาะอยู่ที่ใด คือเกาะอยู่ในนวางค์ ตรียางค์ใดของราศีใด ตามคติเวลาของอันโตนาที
            เส้นทางที่เป็นลัคนากำหนดไว้ว่า เวลาย่ำรุ่งเส้นนี้อยู่ตรงกับดวงอาทิตย์เสมอ และในราศีที่เห็นดวงอาทิตย์อยู่นั้น ระยะทางที่เห็นว่าดวงอาทิตย์ผ่านไปแล้วกี่องศา กี่ลิบดา เรียกว่า อดีต อาทิตย์อุทัย และอีกกี่องศา และลิบดาที่ดวงอาทิตย์จะต้องผ่านไปจนตลอดราศีนั้นเรียกว่า อนาคตอุทัย การที่ลัคนาเกาะอยู่ในเวลาย่ำรุ่งคือเส้นที่แบ่งเขตอดีต และอนาคตอุทัย ถ้าลากเส้นนี้ผ่านดวงอาทิตย์ออกเป็นสองซีก ให้ตรงไปยังดาวราศีที่เห็นข้างหลังดวงอาทิตย์  แล้วต่อเส้นตรงนี้มายังโลก เส้นตรงนี้จะผ่าโลกออกเป็นสองซีกตลอดขั้วโลกเหนือและใต้ เส้นตรงนี้เรียกว่าลัคนาที่เกาะอยู่ในโลกเมื่อเวลาย่ำรุ่ง ซึ่งก็คือเส้นเมอริเดียนของโลก ที่อยู่ตรงกับดวงอาทิตย์เมื่อเวลาย่ำรุ่ง เมื่อที่หมาย ณ ที่นั้นเคลื่อนไปจากที่ตรงกับดวงอาทิตย์ อันเนื่องด้วยการหมุนของโลก เรียกว่าลัคนาจรไป เมื่อจรไปบรรจบครบรอบที่เดิมก็เป็นห้วงเวลาหนึ่งวันพอดี ดังนั้นลัคนาจรก็คือเส้นเมอริเดียนจร เมื่อจรไประยะ ๑๒ ราศี ใน ๒๔ ชั่วโมง ราศีหนึ่งก็จะตก ๒ ชั่วโมงพอดี
            ตามคติโบราณได้นำความรู้อันเป็นเกณฑ์คำนวณมาจากการวัดเงาแดด โดยกำหนดว่า เมื่อดวงอาทิตย์โคจรไปถึงลาดทางที่สูงสุดทางฝ่ายเหนือ เงาแดดตรงหลักในที่นั้นเมื่อเวลาเที่ยงวันจะไม่มีหรือเป็นศูนย์ เวลานั้นเรียกว่า อายันตรสงกรานต์เหนือ หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะต้องถอยกลับมาทางฝ่ายใต้ ลาดทางที่ถอยนี้ ทางภูมิศาสตร์เรียกว่าเส้นทรอปิคออฟ แคนเซอร์ ซึ่งเป็นเส้นที่แบ่งฤดูกาลหนาวร้อนเจือกัน เป็นฝ่ายเหนือ และฤดูร้อนเป็นฝ่ายใต้ สำหรับซีกโลกเหนือ
            ถ้าจะพูดถึงปรากฏการณ์ในท้องฟ้า ดวงอาทิตย์โคจรถึงราศีกรกฏ คือ ดาวปู หรือปุษยฤกษ์ แล้วถอยจากฤกษ์นี้ลงทางใต้ ซึ่งจะตกในวันที่  ๒๒ มิถุนายน เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมถุนได้ประมาณ ๑๐ วัน ตามปฏิทินโหรไทย เมื่อดวงอาทิตย์ถอยจากเหนือแล้ว เงาของหลักก็จะค่อย ๆ ยาวออกไปทางทิศเหนือเมื่อเวลาเที่ยงวัน วันละน้อย ๆ จนยาวได้ประมาณเท่าความยาว ๑๕ เม็ดข้าวเปลือก เรียกว่า ๑๕ พืช หรือ ๑๕ เพ็ชนาที หรือเท่ากับ ๑ รอยเท้า เรียกว่าบาท เมื่อเงาของดวงอาทิตย์ยาวออกไปได้ ๑ บาท แสดงว่าดวงอาทิตย์โคจรไปได้ ๑ ราศี  เงายาวออกไปได้ ๖ รอยเท้าเป็นเวลา ๖ เดือน จากนั้นก็เริ่มหดสั้นจนเป็นศูนย์อีก เป็นเวลา ๖ เดือน รวม ๑ รอบ  เท่ากับ ๑ ปี เป็นระยะทาง ๑๒ รอยเท้า เท่ากับดวงอาทิตย์โคจรไปได้ ๑๒ ราศี
            เวลาเงาที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งยาวขึ้น และสั้นเข้าได้ ๑ รอยเท้านั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยกว่ากันไม่ได้ลงตัวอยู่ที่ ๓๐ วันเสมอไป
            เมื่อย่อระยะทางในเวลา ๑ ปี มาคิดเป็นระยะทางในเวลา ๑ วัน โลกหมุนรอบตัวเอง ๑ วัน พร้อมกับโคจรเคลื่อนที่ไปประมาณ ๑ องศา การแนวทางโคจรจึงเป็นวงรี ดังนั้นจึงนำเอา ๖๐ มหานาที ซึ่งเป็นเกณฑ์ ๑ วันในครั้งกระนั้นมาคิดเฉลี่ย ได้เวลาในราศีมีนกับราศีเมษ ราศีละ ๕ มหานาที ราศีพฤกษภ กับราศีกุมภ์ ราศีละ ๔ มหานาที ราศีเมถุนกับราศีมังกร ราศีละ ๓ มหานาที ราศีกรกฏกับราศีธนู ราศีละ ๕ มหานาที ราศีสิงห์กับราศี พฤศจิก ราศีละ ๖ มหานาที ราศีกันย์และราศีตุลย ราศีละ ๗ มหานาที เกณฑ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า อันโตนาที
            การวางลัคนาให้คิดเวลาเกิดตั้งแต่อนาคตอาทิตย์อุทัยไปจนถึงเวลาที่เกิด แล้วเอาเวลาอนาคตอาทิตย์อุทัยลบออกเสียก่อน จากนั้นเอาเวลาตามอันโตนาทีในราศีข้างหน้าลบต่อไปโดยลำดับ เมื่อลบไม่ได้ในราศีใด ลัคนาก็จะตกอยู่ในราศีนั้น
            ถ้าอธิบายตามความหมายบนพื้นโลกแล้ว เส้นเมอริเดียนที่อยู่ตรงกับดวงอาทิตย์เมื่อเวลาอาทิตย์อุทัยนั้น เมื่อเคลื่อนที่ผ่านลาดทางของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า อีคลิปติค อยู่ในเวลาอันโตนาทีของราศีใด ลัคนาก็จะอยู่ในราศีนั้น ดาวพระเคราะห์ดวงใดที่เห็นอยู่ตรงราศีใด ณ เวลาตกฟาก ก็จะเป็นที่อยู่ของดาวพระเคราะห์ดวงนั้นในดวงชาตาไปตลอดชีวิต
            การกระทำกิจการใด ๆ ก็ดี จะถือเอาเวลาเริ่มต้นของกิจการนั้นเป็นลัคนาของกิจการนั้น ๆ และมีความสัมพันธ์กับดวงชาตากำเนิดของผู้เป็นเจ้าของกิจการนั้น ๆ ถ้าดวงชาตากำเนิดให้ร้ายแต่ดวงชาตาการงาน หรือดวงชาตาการงานให้ร้ายแก่ดวงชาตากำเนิด ก็จะเกิดความผลเสียแก่กิจการนั้น ๆ และผู้ทำกิจการนั้น ๆ ด้วย ดังนั้นจึงให้วางดวงชาตากำเนิดไว้เป็นหลักของดวงกิจการก่อน เมื่อการโคจรของดาวพระเคราะห์มาเป็นผลดีต่อดวงชาตากำเนิดแล้ว ก็จะจัดวางลัคนาของกิจการนั้น ๆ ให้เป็นโยคแก่ชาตาเดิม

การวางลัคนาผูกดวงชาตากำเนิด

            ดวงชาตากำเนิด หมายถึงแผนที่ของดาวนพเคราะห์ ซึ่งสถิตอยู่ตามจักรราศีในขณะที่เจ้าชาตาเกิดเรียกว่า เวลาตกฟาก เวลาตกฟากนี้เป็นหัวใจของการผูกดวงชาตากำเนิด เป็นตัวตั้งในการสมผุสดาวพระเคราะห์ทุกดวง และตัวลัคนาเอง เวลาตกฟากยังเป็นจุดกำเนิดของลัคนา ซึ่งเป็นประธานของดวงชาตากำเนิด ดังนั้นเวลาตกฟาก จะต้องเป็นเวลาที่ถูกต้องตรงตามตำบลที่แท้จริงด้วย เวลาที่ใช้มีอยู่สามประการด้วยกันคือ
            เวลาสมมุติของตำบลที่  เป็นเวลาตามนาฬิกา ซึ่งอาจไม่ตรงตามเวลาของตำบลที่เป็นเวลาที่ใช้ในเขตพื้นที่กว้าง ๆ จะได้สดวกแก่การใช้ สำหรับประเทศไทยใช้เวลา ๗ ชั่วโมง ในเส้นแวง ๑๐๕ องศาตะวันออกจากเมืองกรีนิชของอังกฤษ ซึ่ง ณ จุดนี้จะตรงกับเมืองไซ่ง่อนของเวียดนาม แต่ความจริงเวลาของประเทศไทยเราถือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ที่กรุงเทพ ฯ เป็นศูนย์กลางของประเทศ ถ้าเทียบกับเวลาที่เมืองกรีนิช จะต่างกันเป็นเวลา ๖ ชั่วโมง ๔๑ นาที ๕๗.๙ วินาที ในเส้นแวง ๑๐๐ องศา
๒๙ ลิบดา ๒๘.๕ พิลิบดาตะวันออก ซึ่งเร็วกว่าเวลาจริงอยู่ ๑๘ นาที ๒.๑ วินาที
            เวลาจริงของตำบลที่  จะต้องมีตัวแก้ไปทุกท้องที่ ตามเส้นแวงของตำบลนั้น ๆ โดยเอาค่าของเส้นแวงมาคำนวณเป็นเวลา แล้วไปเปรียบเทียบกับเวลาที่ไซ่ง่อนคือ ๗ ชั่วโมงต่างจากเวลาที่กรีนิช
            เวลาจริงของดวงอาทิตย์  เวลาจริงของตำบลที่ก็ยังเป็นเวลาสมมุติอยู่คือ สมมุติว่าดวงอาทิตย์เดินตรงคงที่อยู่ที่เส้นศูนย์สูตร  แต่ความจริงดวงอาทิตย์มิได้อยู่ตรงเส้นศูนย์สูตรตลอดเวลา แต่จะเปลี่ยนเส้นทางไปตามฤดูกาล (การคำนวณเราสมมติว่า ดวงอาทิตย์เดินโลกอยู่กับที่ หรือจะให้โลกเดินดวงอาทิตย์อยู่กับที่ก็เหมือนกัน) ทางดาราศาสตร์เรียก
เดคลิเนชั่นเหนือ และเดคลิเนชั่นใต้  ทางโหราศาสตร์เรียกว่าดวงอาทิตย์ซัดเหนือ หรือซัดใต้ เมื่อดวงอาทิตย์ซัดเหนือ จะมีเวลากลางวันยาวกว่ากลางคืน และเมื่อดวงอาทิตย์ซัดใต้ จะมีเวลากลางวันน้อยกว่าเวลากลางคืน ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ซัดเหนือมากที่สุด คือ อยู่ที่เส้นรุ้ง ๒๓ องศาเหนือ กลางวันจะยาวที่สุด และกลางคืนจะสั้นที่สุดสำหรับประเทศไทย และพื้นที่ที่อยู่ในซีกโลกเหนือ จากนั้นก็จะเริ่มโคจรลงทางใต้จนถึง วันที่ ๒๒ ธันวาคม ดวงอาทิตย์จะซัดใต้มากที่สุดคือ อยู่ที่เส้นรุ้ง ๒๓ องศาใต้ กลางวันจะสั้นที่สุด และกลางคืนจะยาวที่สุด สำหรับประเทศไทย และพื้นที่ในซีกโลกเหนือ
            ฉะนั้นเมื่อต้องการเวลาจริง จึงต้องคำนวณหาสมผุสดวงอาทิตย์ก่อนแล้วจึงคำนวณหามุมเวลา คือเวลาจริงของดวงอาทิตย์อีกชั้นหนึ่ง มุมเวลาคือมุมระหว่างจุดอาทิตย์อุทัย ถึงจุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในเวลาตกฟากของเจ้าของชาตา
            ดังนั้นการที่จะวางลัคนาได้ถูกต้อง จะต้องมีข้อมูลสามประการคือ ต้องรู้ตำบลที่เจ้าชาตาเกิด ต้องรู้เวลาจริงของตำบลนั้น ๆ และต้องรู้สมผุสดวงอาทิตย์ในเวลาเกิดของเจ้าของชาตา