พระพุทธศาสนาและโหราศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย
จากหลักฐานประวัติทางด้านโบราณคดีที่ได้พบขึ้นใหม่ๆ ในตอนกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มีการค้นพบหลักฐานพวกลูกปัดและสิ่งอื่นๆ ที่แสดงว่า ในอาณาเขตดินแดนสุวรรณภูมิของไทยแห่งนี้ได้มีการติดต่อและเป็นเส้นทางการค้าขาย จากประเทศอินเดีย ไปจนจดประเทศเวียดนาม มาเนิ่นนานแล้ว เป็นเวลาร่วม ๓,๐๐๐ ปี ก่อนสมัยพุทธกาลเสียอีก แต่สำหรับตำนานมหาอาณาจักรไทยนั้นเพิ่งจะได้เริ่มมีบันทึกเป็นเรื่องราวมาตั้งแต่กลียุคศักราช และเป็นที่เด่นชัดขึ้น ในรัชสมัยแห่งพระเจ้าสิงหนวัติผู้สร้างมหาอาณาจักรโยนกนาคพันธุนคร ในดินแดนแห่งสุวรรณโคมคำเดิม ที่ได้ร้างไปตั้งแต่ครั้งศาสนาพระพุทธกัสสปะ
พระเจ้าสิงหนวัติพระโอรสของพระเจ้าเทวกาล ได้ประสูติในกลียุคศักราช ๑ ปีก่อนที่ พระเจ้าสีหตนุราช (หรือ สีหหนุราช – พระราชบิดาของพระเจ้าสุทโธทน) และพระเจ้าอัญชันราช (พระราชบิดาของพระนางมหามายาและพระนางปชาบดี) และ พระกาลเทวิฬ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าอัญชันราช (หรือ อสิตดาบส ผู้พยากรณ์พระพุทธเจ้า) ทั้งสามพระองค์จะได้ทำการลบศักราชกลียุคเสีย และได้ตั้ง อัญชันศักราช ขึ้นในกาลียุคศักราช ๒๔๑๑ ปี
พระเจ้าสิงหนวัติทรงมีพระชนมายุยืนยาวมาก ได้สร้างเมืองโยนกนาคพันธุนคร ในปีอัญชันศักราชที่ ๑๗ อาณาเขตแว่นแคว้นดินแดนโยนกนั้นกว้างขวางไปโดยลำดับ ประกอบด้วยชนชาติมากมายหลายเผ่าพันธุ์ เช่น พวก ขะแมร์ ลวะ ละว้า ขอม กล๋อม ขมุ ส่วย ไทย ฯ พระเจ้าสิงหนวัติทรงครองราชย์สมบัติอยู่นานถึง ๑๐๒ ปี จนพระชนมายุได้ ๑๒๐ ปี จึงได้สวรรคต
ในอาณาเขตแห่งอาณาจักรโยนกนาคพันธุนครนั้น ยังมีแว่นแคว้นเมืองหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เรียกว่า เมืองอารวีเชียงรุ้ง หรือ “อาฬวี” อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “พวกอาฬวกยักษ์” (ผู้เขียน เข้าใจว่า น่าจะเป็นพวกกล๋อม) ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดและจำพรรษา ณ เมือง อารวีเชียงรุ้งแห่งนี้ ในพรรษาที่ ๑๖ เมื่อปีอัญชันศักราชที่ ๑๑๙ (ก่อนพระเจ้าสิงหนวัติสวรรคต) และพระองค์ได้เสด็จมาเยือนอาณาจักรโยนกอีกครั้งหนึ่ง ในปีที่ ๔ สมัยของพระเจ้าคันธกุมาร เมื่อปีอัญชันศักราชที่ ๑๒๓ และ ได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ตำบลผาเรือและ ตำบลสันทรายหลวง โดยได้ตรัสพยากรณ์ดอยตุง (นามเดิม ดอยดินแดงหรือดอยตะยะสะ) อันเป็นที่อยู่ของพระกัมโลฤาษี ว่า จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในภายหน้า เสร็จแล้ว พระองค์จึงได้เสด็จต่อไปยังกรุงราชคฤห์ จำพรรษาในพรรษาที่ ๒๐

พระเจ้าอชุตราช พระนัดดาของพระเจ้าสิงหนวัติ ได้ขึ้นครองราชย์อาณาจักรโยนก ในปีอัญชันศักราชที่ ๑๔๘ มะเส็งศก ปีเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปรินิพพาน พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทำการลบอัญชันศักราชนั้นเสีย แล้วได้ตั้งพุทธศักราชขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๓ พระ มหากัสสป ก็ได้นำเอาพระบรมอัฐิธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้ายมาถวายแก่พระเจ้าอชุตราช จึงได้มีการก่อสร้างพระสถูปขึ้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น ที่ดอยตุง ดังพระพุทธทำนาย
ในกาลสมัยต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังจากที่ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๓ ที่กรุงปาฏลีบุตรแล้ว พระโมคคลีบุตร ติสสเถระ ได้แต่งตั้งคณะสงฆ์ไปดำเนินการประกาศเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลายคณะ ซึ่งก็ได้มีหลายคณะได้เดินทางเข้ามาในดินแดนสยามประเทศทั้งตอนทิศเหนือและทิศใต้ กล่าวคือ
ทางด้านทิศเหนือ ได้มี พระมหารักขิตเถระ กับพระเถรานุเถระอันดับหลายรูปได้นำเอาพระพุทธศาสนา พร้อมด้วยพระบรมสารีริกธาตุ ๙ พระองค์ มาสู่อาณาจักรโยนกนาคพันธุนคร (หมายเหตุ - ท่าน ผู้รู้บางท่าน เช่น ศจ. ดร. พี. วี. บาปัต ว่า น่าจะเป็นไอโอเนียนกรีก แต่ผู้เขียน เห็นว่า ขัดกับหลักฐานแผนที่โบราณและตำนานโยนกนคร)
ทางด้านทิศใต้ ได้มีพระโสณะและพระอุตตรเถระ (ในตำราโหราศาสตร์ไทยว่า พระอุตตรามเถระ) กับพระเถรานุเถระอันดับหลายรูปได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้าสู่แดนแคว้นสุวรรณภูมิทางตอนใต้อีกทางหนึ่ง
ในสมัยนี้เองที่ตำราโหราศาสตร์ได้เข้ามาเริ่มแพร่หลายในดินแดนสยามประเทศ อาทิเช่น ตำราจักรทีปนี, ตำราสุริยยาตร์ ฯลฯ ซึ่งนับเนื่องมาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาสองพันกว่าปีมาแล้ว
อนึ่ง บรรดาสรรพตำราโหราศาสตร์ภาคคำนวณในครั้งกระโน้น ต่อมาได้เปลี่ยนจากกลียุคศักราชมาใช้มหาศักราช ซึ่งพระเจ้าสลิวาหนราช (พระเจ้ากนิษกะ) ได้ทรงลบศักราชเดิมและได้ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 78 (พ.ศ. ๖๒๑) มาเป็นมูลคำนวณทั้งสิ้น

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆษะ (ในตำราโหราศาสตร์ไทย เรียกว่า พระพุทธโฆษาจารย์) ชาวเมืองโกศล เมืองสุธรรมาวดี (เมืองทาตัน) ในรามัญประเทศ (Tailanga – ประเทศพม่าหรือเมียนมาร์ ในปัจจุบัน) ผู้เดิมเป็นศิษย์แห่งมหาฤาษีปตัญชลิ แล้วต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของท่านมหาสถวีระ เรวตะ และเป็นผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคอันเลื่องชื่อ ได้เดินมายังเมือง นครไชยบุรี เชียงแสน แคว้นโยนก เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู มหาศักราช ๓๓๕ พร้อมกับได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุ ๑๖ องค์ มาถวายแก่พระเจ้าพังคราช ซึ่งได้จัดสร้างพระสถูปเจดีย์ พระธาตุจอมทองและพระธาตุดอย กิติ ขึ้น
พระพุทธโฆษาจารย์ท่านนี้ เป็นผู้แต่งคัมภีร์อรรถสาลินี (อัฏฐสาลินี) ซึ่งได้กล่าวพยากรณ์ ว่าด้วย การโคจรดาววิปริต พักร์ มณฑ์ เสริด ที่ใช้กันอยู่ในตำราโหราศาสตร์ไทยนี่เอง
จากรายละเอียดที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า ชนชาติไทยมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เริ่มต้นในครั้งพุทธกาลมาโดยลำดับ และวิชาโหราศาสตร์ไทยก็ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เป็นเวลามากกว่าสองพันปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยจนได้มีพัฒนาการมาเป็นเอกลักษณ์ของไทยโดยเฉพาะแล้ว จึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจและสมควรที่จะรักษามรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย อันแฝงอยู่ในวิชาโหราศาสตร์ไทยเอาไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยสืบไป

บรรณานุกรม
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย (สุตตันตปิฏก) สุตตนิบาต มหาวรรค (๑๑) นาลกสูตร
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย (สุตตันตปิฏก) สุตตนิบาต เรื่องที่ ๑๐ อาฬวกสูตร
คัมภีร์มโนรถปูรณีอรรถกถาอังคุตตรนิกาย
คัมภีร์อรรถสาลินี
คัมภีร์ทีปวงศ์ พงศาวดารลังกา
ตำนานโยนก
ตำนานพระธาตุดอยตุง และ ตำนานพระธาตุจอมทอง
 เก็บตกจาก : ปุชฉา-วิสัชนา ที่ 3372
By : หนุ่ม  

©Copyright ? 2004-2008 Payakorn.com All rights reserved.